ชมพูเชียงดาว ๑

Luculia gratissima (Wall.) Sweet var. glabra Fukuoka

ชื่ออื่น ๆ
ชมพูพิมพ์ใจ, พิมพ์ใจ, มาลัยเชียงดาว (เหนือ)
ไม้พุ่มถึงไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีถึงรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนมีช่อย่อยจำนวนมาก เรียงตัวคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอมแรง สีชมพูถึงสีชมพูแกมขาว ผลแบบผลแห้งแตก คล้ายรูปไข่กลับ ผิวแข็ง เมื่อแก่แตกตามตะเข็บเป็น ๒ ซีก เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก มีปีกสั้น ๆ ที่ปลาย

ชมพูเชียงดาวชนิดนี่เป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูงได้ถึง ๔ ม. ลำต้นและกิ่งก้านสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเกลี้ยงมีช่องอากาศกระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีถึงรูปใบหอก กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายแหลมโคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงถึงมีขนประปราย และมีหนาแน่นตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๔ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. มีขนประปราย หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมเป็นหางยาว ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน มีช่อย่อยจำนวนมากเรียงตัวคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่งก้านดอกยาวไม่เท่ากัน ดอกที่โคนช่อจะมีก้านยาวกว่า ก้านดอกยาว ๕-๘ มม. เกลี้ยง ใบประดับรูปขอบขนาน


กว้าง ๐.๘-๑.๕ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายแหลมขอบมีขนครุย ใบประดับย่อยรูปคล้ายใบประดับแต่เล็กกว่า ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ ซม. มีกลิ่นหอมแรง สีชมพูถึงสีชมพูแกมขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๔ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกแคบสีชมพูเรื่อ ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๙-๑๓ มม. ปลายแหลม ขอบมีขนครุย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๓-๔ ซม. เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปกึ่งกลมแกมรูปรีกว้าง ๘-๙ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายกลมมน เกลี้ยงเรียงบิดเวียนในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร สีเหลืองมีก้านสั้น ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ต่ำกว่าปากหลอดประมาณ ๑ ซม. เรียงสลับกับแฉกกลีบดอกอับเรณูติดด้านหลัง รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เกลี้ยง แตกตามยาว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาว ๓.๕-๓.๘ ซม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูแบน ๒ พู ยื่นเหนือปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย

 ผลแบบผลแห้งแตก คล้ายรูปไข่กลับ ผิวแข็งกว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. เมื่อแก่แตกตามตะเข็บเป็น ๒ ซีก ต่อไปจึงแตกกลางพูในตอนบนเมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก ที่ปลายทั้ง ๒ ด้าน แผ่แบนเป็นปีกสั้น ๆ

 ชมพูเชียงดาวชนิดนี่เป็นพรรณไม้หายากของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบเฉพาะบนเขาหินปูน ตามทุ่งหญ้าที่เปิดโล่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๓๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบในเขตหนาวบริเวณเทือกเขาหิมาลัยจากเนปาลถึงภูฏานไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชมพูเชียงดาว ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Luculia gratissima (Wall.) Sweet var. glabra Fukuoka
ชื่อสกุล
Luculia
คำระบุชนิด
gratissima
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Sweet, Robert
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. glabra
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Fukuoka
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Sweet, Robert (1783-1835)
ชื่ออื่น ๆ
ชมพูพิมพ์ใจ, พิมพ์ใจ, มาลัยเชียงดาว (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์